คณะกรรมการปฏิรูปฯ ได้แถลงพิมพ์เขียวเรื่องข้อเสนอการปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตร 5 ข้อ
1.ให้มีการจำกัดเพดานการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรไว้ไม่เกิน 50 ไร่ต่อครัวเรือน
2.ให้เปิดเผยข้อมูลการถือครอบที่ดินและจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรทั้งประเทศเป็นข้อมูลสาธารณะ
3.ให้จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อ การเกษตรขึ้น เพื่อทำหน้าที่จัดซื้อที่ดินซึ่งไม่ได้ใช้ประโยชน์ นำมาจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน
4.ให้มีการจัดเก็บภาษีที่ดินเกษตรกรรมในอัตราก้าวหน้าที่ดินขนาดต่ำกว่า 10 ไร่ให้เสียภาษี 0.03%, ที่ดิน 10-50 ไร่ เสียภาษี 0.1% สำหรับที่ดินปล่อยทิ้งร้างหรือเกินจาก 50 ไร่ ให้เสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูง 5%
5.ให้มีการกำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรขึ้นมาอย่างชัดเจน รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบระงับการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนผู้ ยากไร้ที่ทำกินอยู่ในเขตป่า
ข้อเสนอที่เกิดขึ้น เกิดในช่วงที่ข่าวการสู้รบไทย-กัมพูชา ที่เป็นประเด็นใหญ่ระดับนานาประเทศ จึงทำให้ข่าวข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป ถูกกลบไป
ทั้งที่พิมพ์เขียวดังกล่าว หลายเรื่องควรต้องมีการถกกันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อดูว่าทำได้หรือไม่ได้และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร
เช่น เรื่องการเสนอให้เปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดิน หรือแลนด์ลอร์ด ซึ่งเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ก็ต้องการรู้ว่าใครคือแลนด์ลอร์ดเมือง ไทย ตระกูลไหน บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายไหนหรือนักการเมืองคนไหนที่ถือครองที่ดินมากที่สุด ในเมืองไทย
แต่คำถามคือว่า การเปิดเผยดังกล่าวจะกระทบกับสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่ ในส่วนของนักการเมืองนั้นไม่ต้องห่วงเพราะตามกฎหมายทั้งรัฐมนตรี ส.ส.และสมาชิกวุฒิสภา ต่างต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่ง ป.ป.ช.ก็จะนำบัญชีดัง กล่าวไปเปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็รู้กันดีว่าถึงแม้จะมีการเปิดเผยแต่ก็ใช่ว่าจะเป็นข้อมูลจริงทั้งหมด เพราะก็มีการหลบเลี่ยงใช้ “นอมินี” ให้ถือครองแทน เช่น วิธีที่นิยมมาก ก็คือให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะถือครองที่ดินแทน
กรณีดังกล่าวก็คงเช่นเดียวกับนักธุรกิจหรือคนใหญ่คนโตทั้งหลาย ที่ตอนนี้อาจถือครองที่ดินเองทั้งหมดในชื่อของตนเอง แต่การถือครองที่ดินดังกล่าว ต้องมีการเปิดเผยข้อมูล มีหรือที่คนเหล่านี้จะไม่โยกย้ายถ่ายโอน เพื่อไม่ให้ถูกมองว่ามีที่ดินในมือมากเกินไป อันจะทำให้เกิดความรู้สึกเชิงเหลื่อมล้ำขึ้นในสังคม
ที่สำคัญ ข้อมูลทำนองนี้ก็มีการเปิดเผยจาก อนุวัฒน์ เมธีวิบูลย์วุฒิ อธิบดีกรมที่ดินแล้วว่า กรมที่ดินไม่เคยจัดเก็บข้อมูลการถือครองที่ดินแบบรายบุคคล ประเภทกดชื่อ นามสกุล แล้วคอมพิวเตอร์จะแสดงการถือครองที่ดินทั้งหมดมาให้ดูได้ทันที
กระบวนการดังกล่าว หากจะทำจริงก็ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการดำเนินการไม่น้อย แต่คงไม่เป็นประเด็นมากเกินกว่าความรู้สึกที่ว่า มันกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่?
ส่วนข้อเสนอเรื่องการกำหนดเขตการใช้ที่ดินและแผนการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร ขึ้นใหม่ โดยให้แบ่งพื้นที่หลักออกเป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่เมือง พื้นที่อุตสาหกรรม หรือ “การแบ่งโซนที่ดิน” นั้น ข้อเสนอดังกล่าว เป็นเรื่องที่สมควรทำและควรทำมานานแล้ว
เพราะเห็นได้ชัดว่ามีประโยชน์อย่างมาก หลายประเทศทั่วโลกเขาทำกันมานานแล้ว
ประโยชน์ที่ได้รับหากมีการทำเรื่องนี้มีมากมาย เช่น การที่เกษตรกรจะสามารถควบคุมผลิตผลการเกษตรได้ โดยรัฐจะเป็นผู้วางแผนให้ว่า พื้นที่ไหนปลูกพืชผลการเกษตรอะไร จะมีผลผลิตต่อปีเท่าไหร่ อันจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรไม่ตกต่ำ เพราะต่างฝ่ายต่างผลิตออกมาจนล้นตลาด ขายพืชผลได้ราคาเกษตรกรก็จะลืมตาอ้าปากได้เหมือนคนในธุรกิจอื่นๆ
เมื่อมีการแบ่งโซนที่ดินเป็นโซนอุตสาหกรรมก็จะทำให้ระบบการวางแผนด้านเศรษฐกิจมี ความชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนควรต้องพัฒนาระบบขนส่งจากภาคเกษตรส่งไปยัง พื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการผลิตครบวงจร ขณะเดียวกันก็จะได้รู้ว่าพื้นที่อุตสาหกรรมจำเป็นต้องเพิ่มความสำคัญในด้าน งบประมาณเพื่อป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อมตามไปด้วย
ขณะที่การจำกัดขนาดการถือครองที่ดินไว้ไม่เกินครัวเรือนละไม่เกิน 50 ไร่ ซึ่งกรรมการปฏิรูปที่ดินให้เหตุผลว่า เพื่อให้ที่ดินกระจายไปยังเกษตรกรรายย่อยผู้ทำการเกษตรด้วยตนเองได้อย่าง ทั่วถึง และเสนอว่าผู้ที่มีสิทธิ์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อการเกษตรจะต้องเป็น ผู้ที่ทำการเกษตรด้วยตัวเองเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้อื่นเช่า หรือปล่อยทิ้งร้างนั้น
ข้อเสนอดังกล่าวมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย แต่ข้อเสียที่เห็นชัดคือ ทำให้ระบบเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหญ่ของประเทศ จะได้รับผลกระทบทันทีคือ ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ติดเงื่อนไขในเรื่องสิทธิในการถือครองที่ดิน จนเกิดปัญหาขาดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ และฯลฯ
ทั้งหมดคือเสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจากพิมพ์เขียวข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯ ที่รัฐบาลและทุกฝ่ายจำเป็นต้องนำไปศึกษาเพื่อถกเถียงและผลักดันให้เกิดขึ้นในทางปฏิบัติต่อไป
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น